ประวัติข้าวหอมมะลิ

ข้าวหอมมะลิ (Thai Hom Mali Rice) เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย จัดเป็นข้าวนาปี ปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ลักษณะข้าวเปลือกเรียวยาว เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ข้าวเมล็ดเรียว ยาว ขาวใสเป็นเงา แกร่ง มีท้องไข่น้อย มีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นพันธุ์ข้าวที่สร้างชื่อเสียงให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก





ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีแหล่งเพาะปลูกสำคัญ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขตทุ่งกุลาร้องไห้) และมีพื้นที่เพาะปลูกครอบคลุมกว่า 19 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยมีแหล่งผลิตสำคัญ คือ จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด รองลงมาคือภาคเหนือ เนื่องจากสภาพดินฟ้า-อากาศและพื้นที่เพาะปลูกของทั้งสองภาคคล้ายคลึงกัน เหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ กล่าวคือ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดอน ฝนจะเริ่มตกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ชาวนาจะเริ่มหว่านไถ ในเดือนมิถุนายน และเพาะปลูกอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เมื่อฝนเริ่มหมด ปลายเดือนตุลาคมจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จึงเริ่มเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนความชื้นจะน้อยเพราะเป็นช่วงที่ลมหนาวจากเมืองจีนเริ่มพัดเข้ามาในสองภาคนี้ ทำให้อากาศแห้งเหมาะในการเก็บเกี่ยว การตาก การนวด ก็ทำได้ง่าย เพราะน้ำแห้งนาหมดแล้ว ไม่มีฝน จึงทำให้ได้เมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ สำหรับการปลูกข้าวหอมจะทำกันได้ดีเฉพาะที่ที่เป็นนาดอนเสียเป็นส่วนใหญ่

 

คุณสมบัติของข้าวหอมมะลิ

 

ข้าวหอมมะลิที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข.15 ความหอมของข้าวหอมมะลิ เกิดจากสารระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline ซึ่งเป็นสารที่ระเหยหายไปได้ การรักษาความหอมของข้าวหอมที่ดีต้องเริ่มตั้งแต่ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาข้าวเปลือกการสีข้าว และการเก็บรักษาข้าวที่สีเรียบร้อยแล้วการจะรักษาความหอมของข้าวเอาไว้ต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาวะแวดล้อมที่ร้อน อบอ้าว และมีความชื้นสูง การตากแดดหรือใกล้สถานที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งสภาวะที่เหมาะสมคือที่ที่มีอากาศค่อนข้างเย็น มีการถ่ายเทของอากาศดี ความชื้นไม่สูง ข้าวหอมใหม่ (NEW CROP) หมายถึงข้าวหอมที่พึ่งเก็บเกี่ยวมาได้สักระยะหนึ่ง และมีการดูแลรักษาอย่างดี ก่อนที่จะนำมาบริโภค ข้าวหอมใหม่จะให้ความหอมขณะหุงต้ม ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากข้าวชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ข้าวหอมที่หุงแล้ว ยังมีลักษณะนุ่มเหนียว มียาง เกาะตัวกันพอสมควร มีรสชาติอร่อย ข้าวหอมที่เก็บไว้นานขึ้น (ข้าวเก่า) คือ ข้าวที่เก็บเกี่ยวมาแล้วเก็บไว้เป็นเวลานาน 5-6 เดือนขึ้นไป ความหอมจะเจือจางลง รวมทั้งความนุ่มเหนียวลดลงด้วย เมื่อนำข้าวหอมนี้มาหุงจะต้องใช้ปริมาณน้ำมากขึ้นกว่าข้าวใหม่ ถึงแม้ความหอมจะลดน้อยลงไปแต่ยังคงมีรสชาติอร่อยเหมือนเดิม

 

ประเภทของข้าวหอมมะลิ

 

กระทรวงพาณิชย์ (กรมการค้าต่างประเทศ) ได้แบ่งประเภทของ ข้าวหอมมะลิไทย ออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวขาว (8 ชนิด) และข้าวกล้อง ( 6 ชนิด)

ข้าวขาวแบ่งออกเป็น 8 ชนิด ดังนี้

  1. ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1
  2. ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 (มีปริมาณส่งออกมากที่สุด)
  3. ข้าวขาว 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 3
  4. ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์
  5. ข้าวขาว 10 เปอร์เซ็นต์
  6. ข้าวขาว 15 เปอร์เซ็นต์
  7. ข้าวขาวหักเอวันเลิศพิเศษ
  8. ข้าวขาวหักเอวันเลิศ

ข้าวหอมมะลิแท้-ดูอย่างไร

  1. ข้าวกล้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1
  2. ข้าวกล้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2
  3. ข้าวกล้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 3
  4. ข้าวกล้อง 5 เปอร์เซ็นต์
  5. ข้าวกล้อง 10 เปอร์เซ็นต์
  6. ข้าวกล้อง 15 เปอร์เซ็นต์

 

ประเภทของข้าวหอมมะลิ

 

วิธีการตรวจความเป็นข้าวหอมมะลิ การตรวจสอบที่สามารถยืนยันว่าเป็นข้าวหอมมะลิแท้หรือไม่นั้น ปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียว คือ การตรวจสายพันธุกรรม (DNA) ซึ่งมีสถาบันที่สามารถตรวจสอบได้อยู่น้อย* มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบค่อนข้างสูง และต้องใช้เวลาในการตรวจสอบพอสมควร นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางในการบ่งชี้หาความเป็นข้าวหอมมะลิ คือ วิธีการตรวจทางกายภาพ

* สถาบันตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม ข้าวหอมมะลิ (DNA) 1. สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. ศูนย์ปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

วิธีการตรวจลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกหอมทางกายภาพ

 

พิจารณาจาก ลักษณะสีของเปลือก ขนาดรูปทรงของเมล็ดข้าวเปลือก ลักษณะพิเศษที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่บ่งชี้ว่าเป็นข้าวหอมอะไร (ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญ) เช่น
– ข้าวหอมมะลิ 105 มีจุกหางแยกออกชัดเจน
– ข้าวหอมมะลิ กข.15 ที่จุกหางมีลักษณะงอนขึ้นมากกว่า และเมล็ดจะกว้างกว่า
– ข้าวปทุมธานี 105 จะมีลักษณะคล้ายกับ หอมมะลิ 105 ต่างกันที่จุกหางจะแยกน้อยกว่า

 

วิธีการตรวจลักษณะเมล็ดข้าวสารหอมที่ผ่านการกะเทาะเอาเปลือกและรำ ออกแล้ว



– การตรวจทางกายภาพ (มีมาตรฐานกำหนด) พิจารณาจาก ลักษณะรูปทรงของเมล็ดข้าวขนาดความยาวของเมล็ดข้าวและความยาวเฉลี่ย ต่อความกว้างของเมล็ด ลักษณะพิเศษ ที่บ่งชี้ว่าเป็นข้าวหอมอะไร และวิธีตรวจสอบเมล็ดข้าวสุกที่ต้มในน้ำเดือด
– การตรวจทางเคมี คือ การทดสอบหาปริมาณอมิโรส การทดสอบหาปริมาณข้าวเจ้าอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปน โดยการหาค่าการสลายเมล็ดข้าวในด่าง หรือการย้อมสี และการทดสอบความสดของข้าว



ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ (Surin Hom Mali Rice) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาตร์ไทย “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์” เป็นข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข 15 มีความหอมตั้งแต่เป็นต้นกล้าจนถึงข้าวหุงสุก ลักษณะข้าวเมล็ดเรียวยาวขาว เป็นเลื่อมมัน ใสสวย เมื่อหุงสุก เป็นข้าวสวยจะมีสีขาว ลักษณะอ่อนนุ่ม ชุ่มลิ้น กินอร่อย จนชาวสุรินทร์กล่าวว่า “ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม” เพาะปลูกในจังหวัดสุรินทร์

ทะเบียนเลขที่ : สช 51100023
Registration Number : GI 51100023
วันที่ได้รับการขึ้นทะเบียน : 31 มกราคม 2548
Registered Date : 31 January 2005

ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ หอม ยาว ขาว นุ่ม จังหวัดสุรินทร์ มีแหล่งน้ำธรรมชาติ สภาพดินเป็น ดินร่วนปนทรายและดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และไม่อุ้มน้ำ มีระบบกักเก็บถ่ายเทน้ำที่ดี เหมาะ สำหรับการปลูกข้าวหอมมะลิสุรินทร์